วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประวัติประเพณีชักพระทุ่งสง

ประเพณีชักพระ

v ประวัติความเป็นมา

          ประเพณีชักพระเป็นประเพณี ที่พราหมณ์ศาสนิกชนและพุทธศาสนิกชนปฏิบัติสืบต่อ                  กันมา  สันนิษฐานว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ที่นิยมเอา เทวรูปออกแห่ในโอกาส       ต่าง ๆ  ต่อมาพุทธศาสนิกชนได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าวมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา  ประเพณีชักพระเล่ากันเป็นเชิงพุทธตำนานว่า หลังจากพระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหารย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี แล้วได้เสร็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา  ซึ่งขณะนั้นทรงจุติเป็นมหามายาเทพ สถิตอยู่ ณ ดุสิตเทพพิภพตลอดพรรษา พระพุทธองค์ ทรงประกาศพระคุณของมารดา     แก่เทวสมาคมและแสดง พระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา   คัมภีร์ พระมหามายาเทพและเทพยดาใน        เทวสมาคมบรรลุโสดาบันหมด ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  อันเป็น       วันสุดท้ายของพรรษา     พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับมนุษยโลกทางบันไดทิพย์ที่พระอินทร์นิมิตถวาย บันไดนี้ทอดจากภูเขาสิเนนุราช ที่ตั้งสวรรค์ชั้นดุสิตมายังประตูนครสังกัสสะ ประกอบด้วยบันไดทอง บันไดเงินและบันไดแก้ว        บันไดทองนั้นสำหรับ     เทพยดา  มาส่งเสด็จอยู่เบื้องขวาของพระพุทธองค์ บันไดเงินสำหรับพรหมมาส่งเสด็จอยู่เบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ และบันไดแก้วสำหรับพระพุทธองค์อยู่ตรงกลาง เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึง ประตูนครสังกัสสะตอนเช้าตรู่ของวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนที่ทราบกำหนดการเสด็จกลับของพระพุทธองค์จากพระโมคคัลลานได้มารอรับเสด็จ อย่างเนืองแน่นพร้อมกับเตรียมภัตตาหารไปถวายด้วย แต่เนื่องจากพุทธศาสนิกชนที่มารอรับเสด็จมีเป็นจำนวนมากจึงไม่สามารถจะเข้าไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทั่วทุกคน จึงจำเป็นที่ต้องเอาภัตตาหารห่อใบไม้ส่งต่อๆ กันเข้าไปถวาย ส่วนคนที่อยู่ไกลออกไปมากๆ จะส่งต่อๆ กันก็ไม่ทันใจ จึงใช้วิธีห่อภัตตาหารด้วยใบไม้โยนไปบ้าง ปาบ้าง เข้าไปถวายเป็น ที่โกลาหล โดยถือว่าเป็นการถวายที่ตั้งใจด้วยความบริสุทธิ์ด้วยแรงอธิษฐานและอภินิหารแห่งพระพุทธองค์ ภัตตาหารเหล่านั้นไปตกในบาตรของพระพุทธองค์ทั้งสิ้น 

เหตุนี้จึงเกิด ประเพณี "ห่อต้ม" "ห่อปัด" ขึ้น  เพื่อเป็นการแสดงถึงความปิติยินดีที่  พระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชน ได้อัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบก  ที่เตรียมไว้ แล้ว แห่แหนกันไปยังที่ประทับของพระพุทธองค์ ครั้นเลยพุทธกาลมาแล้วและเมื่อมีพระพุทธรูปขึ้น พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปยกแห่แหนสมมติแทนพระพุทธองค์

          ประเพณีชักพระอำเภอทุ่งสง เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อ ปี ๒๕๓๓ โดยคณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรม ท้องถิ่นโรงเรียนสตรีทุ่งสง ซึ่งขณะนั้นอำเภอทุ่งสงยังไม่มีการก่อตั้งสภาวัฒนธรรมอำเภอ ต่อมาในปี ๒๕๓๗ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มีนโยบายให้อำเภอทุกอำเภอทั่วประเทศจัดตั้งสภาวัฒนธรรมอำเภอขึ้น โดยมีนายอำเภอเป็นกรรมการที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรมอำเภอโดยตำแหน่ง และในปี ๒๕๔๕ นายอำเภอทุ่งสง (นายนฤนาท  สุภัทรประทีป) ได้มีความคิดที่จัดงานประเพณีประจำปีของอำเภอทุ่งสงขึ้น จึงได้ปรึกษากับคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอทุ่งสงในสมัยนั้น ซึ่งมีนายมณี  แก้วประเสริฐ เป็นประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอทุ่งสง ที่ประชุมมีมติให้จัดงานประเพณีชักพระให้เป็นงานประจำปีของอำเภอ จึงได้นำมติที่ประชุมดังกล่าวไปปรึกษากับผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีทุ่งสง ท่านผู้อำนวยการก็เห็นด้วย   และยินดีให้อำเภอเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน  อำเภอทุ่งสงโดยเลขาธิการสภาวัฒนธรรมอำเภอทุ่งสง(นางกาญจนา  แสงศรี)ได้จัดทำโครงการของบประมาณอุดหนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี ๒๕๔๖ ซึ่งเป็นปีแรกที่อำเภอเป็นเจ้าภาพงานประเพณีชักพระ  องค์การบริการส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดสรรงบประมาณให้ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และนายอำเภอทุ่งสงได้ขอความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในอำเภอทุ่งสง ให้อุดหนุนงบประมาณให้วัดทุกวัด  วัดละ ๒๐,๐๐๐- ๓๐,๐๐๐ บาท ตามความพร้อมของแต่ละ อบต. และขอเงินอุดหนุนบางส่วนให้อำเภอทุ่งสงเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงาน   และกำหนดให้วัดทุกวัดจัดทำเรือพนมพระเข้าร่วมกิจกรรม ในปี แรกที่จัดงานประเพณีชักพระ ใช้ชื่องานว่า “งานประเพณีชักพระอำเภอทุ่งสง ประจำปี ๒๕๔๖” ใช้สถานที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอทุ่งสง  เป็นสถานที่จัดงาน   และใช้ถนนชัยชุมพล   ตั้งแต่สี่แยก      ชัยชุมพล ถึงสี่แยกชนปรีดา  เป็นสถานที่จอดเรือพนมพระ ในปีนี้มีเรือพนมพระเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน  ๔๕ วัด โดยมีวัดจากต่างจังหวัดเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ๑ วัด คือ วัดคลองปาง อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง และได้กำหนดให้มีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
๑.     กิจกรรมการประกวดเรือพนมพระ  แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ ประเภทสวยงาม  ประเภทความคิดสร้างสรรค์ และประเภทอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๒.     กิจกรรมการประกวดขบวนแห่เรือพนมพระ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทสวยงามและประเภทความคิดสร้างสรรค์
๓.     กิจกรรมการประกวดกลองยาว
๔.     กิจกรรมการแข่งขันตีโพนประโคมโพน
๕.     กิจกรรมการแข่งขันแทงต้ม
๖.     กิจกรรมการประกวดร้องเพลงช้าน้อง
๗.    กิจกรรมการประกวดเทพีเรือพนมพระ
๘.     กิจกรรมการประกวดรำวงเวียนครก
ในปี ๒๕๔๖ อำเภอทุ่งสงจัดงานประเพณีชักพระ ได้เป็นที่พอใจของนายกองค์การบริหาร
ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช (นายวิทูรย์  เดชเดโช) ท่านจึงได้ประกาศเพิ่มเงินงบประมาณให้เป็น ๓๐๐,๐๐๐ บาท ในปีต่อไป และอำเภอทุ่งสงจัดงานประเพณีชักพระได้อย่างยิ่งใหญ่ขึ้นทุกปี  จนถึงปี ๒๕๕๐ ท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เพิ่มงบประมาณให้อีกเป็น ปีละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท  จนกระทั่งได้มีการเปลี่ยน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดคนใหม่ เป็น นายพิชัย  บุณยเกียรติ ในปี ๒๕๕๓ ได้ประกาศเพิ่มงบประมาณให้อำเภอทุ่งสงในปีต่อไป(ปี ๒๕๕๔) เป็น ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และในปี ๒๕๕๔ นี้ อำเภอทุ่งสง ได้มีการเสนอขอถ้วยรางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้รับพระอนุญาตให้ถ้วยรางวัลพระราชทาน ประเภทการประกวดเรือพนมพระ ประเภทสวยงาม เป็นปีแรก และเป็นงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่พระองค์ทรงมีพระชามายุครบ ๘๔ พรรษา ในปี ๒๕๕๔ นี้ด้วย นับเป็นงานประเพณีอันยิ่งใหญ่ของอำเภอทุ่งสง และของจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกประเพณีหนึ่ง  ในปีนี้มีความพิเศษกว่าปีอื่นๆ คือ คณะกรรมการจัดงานฯได้เปิดโอกาสในวัดที่มาจากต่างอำเภอ และต่างจังหวัดมีสิทธิ์ที่นำส่งเรือพนมพระเข้าประกวดได้ด้วยเป็นปีแรก ทำให้มีเรือพนมพระส่งเข้าร่วมกิจกรรมในปี ๒๕๕๔ นี้ ถึงจำนวน  ๗๑ วัดด้วยกัน  อำเภอทุ่งสงได้ฟื้นฟูงานประเพณีชักพระมาเป็นเวลา รวม ๒๒ ปี และได้เปลี่ยนสถานที่จัดงานมาที่บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอทุ่งสง โดยมีอำเภอเป็นเจ้าภาพ และมีวัฒนธรรมอำเภอเป็นเลขานุการในการจัดงาน รวมเวลา  ๙ ปี นับว่าเป็นงานประเพณีที่เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวทุ่งสง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของชาวอำเภอทุ่งสงอีกด้วย